top of page

กำเนิดทาโก้ : ห่ออาหารจากการดิ้นรนของวัฒนธรรมเม็กซิกัน

‘Taco Bell มาไทยแล้ว’ วันศุกร์แบบนี้ ชาวสมาคมคนรักอาหารนานาชาติ หรือคนรักวัฒนธรรมอเมริกันอาจกำลังเตรียมมุ่งหน้าไปตึกเมอร์คิวรี่กันอยู่ Taco Bell ดูจะเป็นอีกหนึ่ง ‘วัฒนธรรมอาหารฟาสต์ฟู้ดอเมริกัน’ ที่เวรี่อเมริกันในแง่ของการมีส่วนผสมจากหลายๆ ชาติ เวลาเราดูซีรีส์ เราจึงมักเห็นชาวอเมริกันกิน ‘อาหารนานาชาติ’ ไม่ว่าจะ บะหมี่กล่อง ทาโก้ เรื่อยไปจนถึงอาหารไทยเสมอ

 

ถ้าเรามองวัฒนธรรมเม็กซิกัน กระทั่งวัฒนธรรมกลุ่มละตินอเมริกา เราคงพอเรียกได้ว่าเป็น ‘วัฒนธรรมกลุ่มรอง’ คือเป็นวัฒนธรรมของคนที่ถูกกดขี่ คนละตินอเมริกามักถูกวาดภาพให้เป็นชนชั้นแรงงาน พูดง่ายๆ ว่าส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ลำบากๆ หน่อย สำหรับ Taco Bell เองที่ปัจจุบันได้รับการสถาปนากลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนฟาสต์ฟูดจนอิมพอร์ตไกลออกไปทั่วโลก

ซึ่งเจ้า ‘ทาโก้’ ในฐานะอาหาร ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความยากลำบาก และการเติบโตขึ้นของชาวเม็กซิกัน จากจุดกำเนิดในเหมือง เรื่อยมาจนถึงยุคที่ผู้หญิงต้องดิ้นรนจากค่าแรงงานอันน้อยนิด อาหารชนิดนี้ก็มาจากแผงอาหารริมถนน จนวันหนึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกันชน

image.png

‘ห่อระเบิด’ ในเหมืองแร่ และการเอาตัวรอดของแรงงานหญิง

ทาโก้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแทนสำคัญของวัฒนธรรมอาหารเม็กซิกัน เป็นตัวแทนอาหารที่เกี่ยวข้องกับความยากลำบาก เกี่ยวข้องกับการทำงานหนักในยุคอุตสาหกรรม

นักวิชาการกล่าวว่า การใช้แป้งข้าวโพดมาทำให้แบนๆ เพื่อใช้แทนช้อนนั้น ปรากฏในวัฒนธรรมมนุษย์มานับพันปีแล้ว  ส่วนคำว่า ‘ทาโก้’ สันนิษฐานกันว่า เกิดขึ้นจากคำเรียกของคนงานเหมืองแร่ชาวเม็กซิกันในช่วงทศวรรษ 1800s ในยุคนั้นชาวเหมืองจะมีการทำระเบิดในเหมือง โดยการห่อดินปืนเป็นแท่งด้วยกระดาษสีเงินหน้าตาคล้ายซิการ์ ซึ่งเรียกว่า ทาโก้ (Taco) Jeffrey M. Pilcher อาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ จาก University of Minnesota เจ้าของหนังสือตำราทาโก้ Planet Taco: A Global History of Mexican Food เขาบอกว่าจากการทำระเบิดดินปืนนี้เอง ทำให้ชาวเหมืองเริ่มเรียกห่ออาหารของตัวเองว่าทาโก้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่พบว่าทาโก้ประเภทแรกมีชื่อว่า ‘ทาโก้ของชาวเหมือง’ (tacos de minero—miner’s tacos)

แม้จะกำเนิดขึ้นในเหมืองแร่ แต่ทาโก้ก็ยังไม่กลายเป็นอาหารประจำชาติ จนกระทั่งเม็กซิโกกลายเป็นดินแดนอุตสาหกรรม เมืองหลวงเช่นเม็กซิโก ซิตี้ก็กลายเป็นเมืองใหญ่ เป็นแหล่งโรงงาน ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างเดินทางเข้ามารวมตัวกันเพื่อทำงาน

ในโลกของโรงงานอุตสาหกรรม งานบางประเภทต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะของแรงงานหญิง ผู้หญิงก็เริ่มเข้ามากระจุกรวมตัวอยู่ในเมืองเพื่อทำงานในโรงงาน เช่น โรงงานมวนบุหรี่ หรือโรงงานทอผ้า และด้วยความที่ค่าแรงนั้นถูกแสนถูก แถมพอเมืองหลวงกลายเป็นเมืองใหญ่ เหล่าแรงงานหญิงที่พกทักษะการทำอาหารติดตัวมาด้วยก็เริ่มหาลำไพ่พิเศษด้วยการขายอาหารริมทาง จุดนี้เองที่ทาโก้ อาหารห่อแป้ง ที่ซื้อง่าย รับประทานได้ด่วนๆ จึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับการเป็นสตรีทฟู้ดของคนใช้แรงงาน ที่มา thematter.co
image.png
bottom of page